13thMay

13thMay

13thMay

 

August 24,2016

เปิด ‘อุทยานธรณีโคราช’ ดันแห่งที่ ๓ ของโลก


นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช

          เปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช เน้นการอนุรักษ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์มรดกทางธรณีในท้องถิ่น พร้อมผลักดันเป็นประเทศที่ ๓ ที่มีการอนุรักษ์ ๓ รูปแบบของยูเนสโกในพื้นที่เดียวกัน คือ “UNESCO Tripple Crown”

          เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราช- สีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอุทยานธรณีโลก และประชาคมในอุทยานธรณีโคราช พร้อมเปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช และคณะร่วมต้อนรับ

          ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวรายงานว่า อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนายธงชัย ลืออดุลย์ (ผวจ.นครราชสีมา ขณะนั้น) ประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ ตามความเห็นชอบของคณะทำงานอุทยานธรณีจังหวัดนครราชสีมา ที่แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา และในสมัยของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนปัจจุบัน ได้แต่งตั้งคณะผู้บริหารขึ้น ทำให้อุทยานธรณีโคราชมีองค์ประกอบทั้งพื้นที่และองค์กรบริหาร พร้อมสำหรับดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ระดับประเทศหรือระดับโลกตามเกณฑ์ของยูเนสโก และจัดเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดแห่งที่ ๓ ของประเทศ ต่อจากอุทยานธรณีสตูล และอุทยานธรณีผาชันสามพันโบก (อุบลราชธานี)

          “อุทยานธรณีจึงเป็นรูปแบบการอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันยูเนสโกได้รับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลก หรือ Global Geopark ไปแล้ว ๑๒๐ แห่งจาก ๓๓ ประเทศทั่วโลก โดยประเทศจีนมีมากที่สุดถึง ๓๑ แห่ง ในอาเซียนมีเฉพาะประเทศมาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย ประเทศละ ๑ แห่ง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี ต่อมากรมทรัพยากรธรณีจึงมีนโยบายตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานธรณีในหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนงบประมาณจัดทำแผนแม่บทอุทยานธรณีในจังหวัดต่างๆ การสำรวจแหล่งธรณีอันควรอนุรักษ์ภายในประเทศ การจัดประชุมสัมมนาการจัดตั้งอุทยานธรณี เป็นต้น ทำให้หลายจังหวัดเริ่มดำเนินโครงการอุทยานธรณีขึ้น เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น สตูล ตาก และนครราชสีมา เมื่อมีการจัดตั้งหรือรับรองโดยยูเนสโกแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของโลกที่ภายใน ๑ จังหวัดมีรูปแบบการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง ๓ โปรแกรม เหมือนเช่นประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น “The UNESCO Triple Crowns” เหมือน ๒ ประเทศดังกล่าว และยังสามารถนำแบรนด์หรือความโดดเด่นระดับโลกข้างต้น มาใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวได้” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

          นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อุทยานธรณีโคราชหรือโคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark) เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี นิเวศวิทยาและวัฒนธรรม รูปแบบหนึ่งของยูเนสโก อีก ๒ รูปแบบ คือ มรดกโลกป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ กับพื้นที่สงวนชีวมณฑล เช่น ป่าสะแกราช ขณะนี้มีอุทยานธรณีระดับโลกแล้ว ๑๒๐ แห่งจาก ๓๓ ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบนี้ แต่ขณะนี้มี ๕ จังหวัดที่เริ่มมีการจัดตั้งอุทยานธรณี โดยจังหวัดที่มีการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดแล้วรวมทั้งมีองค์กรบริหาร ได้แก่ จังหวัดสตูล และอุบลราชธานี ส่วนจังหวัดนครราชสีมาเป็นลำดับที่ ๓ โดยจังหวัดตากและขอนแก่น อาจจะเป็นลำดับต่อไป

          “อุทยานธรณีโคราช จะอาศัยความโดดเด่นด้านทรัพยากรฟอสซิลในพื้นที่ ทั้งซากช้างดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์ ไม้กลายเป็นหินและสัตว์ร่วมยุคอื่นๆ ซึ่งมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวนมาก ตั้งแต่พบอุรังอุตังโคราช เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ไปถึงไดโนเสาร์โคราชพันธุ์ใหม่ของโลกล่าสุด ที่ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สิรินธรนา โคราชเอนซิส ใน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งอุทยานธรณีโคราชแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตรงที่อุทยานธรณีโคราช มีอาณาบริเวณอยู่ในพื้นที่ ๕ อำเภอ คือ อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองฯ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณี ๓๑ แห่ง นิเวศ ๓ แห่ง และแหล่งวัฒนธรรม ๑๕ แห่ง โดยพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ แหล่งธรณีดังกล่าว แต่ความสำคัญของพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่แห่งนี้ คือ เป็นสำนักงานใหญ่ของอุทยานธรณีโคราชด้วย ซึ่งจะมีคณะผู้บริหารที่ประกอบด้วยผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช คือ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล และรองผู้อำนวยการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และท้องถิ่น รวมทั้งเลขานุการและรองเลขานุการอีก ๘ คน เป็นคณะผู้บริหารอุทยานธรณี เป้าหมายสำคัญของการบริหารจัดการอุทยานธรณี คือ การพัฒนาอาชีพและรายได้ชุมชนท้องถิ่นโคราช ผ่านทางกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณี นิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน โดยมรดกทางธรณีและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้รับการอนุรักษ์หรือดูแลรักษาอย่างดี” นายวิเชียร กล่าว

          ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวทิ้งท้ายว่า อุทยานธรณีโคราช เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันผลักดันให้ขึ้นสู่ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ เพื่อประกาศเป็นมรดกโลก และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประชาชน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ นำมาสู่รายได้ในพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา สำหรับจังหวัดนครราชสีมามีองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยยูเนสโกรับรองแล้ว ๒ แห่งคือ มรดกโลกป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ กับพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ถ้ามีอุทยานธรณีอีก ๑ แห่ง ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ ๓ ต่อจากประเทศอิตาลีและเกาหลี ที่มีการอนุรักษ์ ๓ รูปแบบของยูเนสโก พื้นที่จังหวัดเดียวกัน คือ นครราชสีมาจะเป็น “The UNESCO Tripple Crown” ๑ ใน ๓ ประเทศของโลก

          อนึ่ง อุทยานธรณี เป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา (geology) รวมถึงคุณค่าทางด้านโบราณคดี (archaeology) นิเวศวิทยา (ecology) และวัฒนธรรม (culture) ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ อุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark  เป็นโปรแกรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โปรแกรมหนึ่งของยูเนสโก คล้ายกับมรดกโลก (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) แต่ ๒ โปรแกรมหลังนี้เน้นการอนุรักษ์หรือการวิจัย ขณะที่อุทยานธรณี (Geopark) เน้นการอนุรักษ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ซึ่งทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์มรดกทางธรณีในท้องถิ่นด้วย ทั้งในรูปงานอาชีพบริการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น การผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรและหัตกรรมของท้องถิ่น ที่เป็นอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ รวมทั้งงานอาชีพใหม่ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๓๘๐ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙


 

 

 

 

 


750 1,479