June 28,2017
นักธุรกิจเข้าซบแม่ทัพ-ผู้ว่าฯ อ้างจำเป็นต้องยกระดับทางคู่ รฟท.ยันออกแบบเหมาะสมแล้ว
ยังเดินหน้าขอให้เปลี่ยนเป็นยกระดับรางรถไฟทางคู่ ล่าสุดประธานภาคุรกิจ หอการค้า-สภาอุตสาหกรรม ลุยพบแม่ทัพภาคที่ ๒ และพ่อเมืองโคราช ขอให้ช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขรูปแบบ อ้างประชาพิจารณ์ไม่ละเอียด ซ้ำยังพบว่าก่อกำแพงสูง ๒ เมตร ทำให้สัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งลำบาก ผลกระทบอื้อ ด้านรฟท.ยืนยันออกแบบเหมาะสมแล้ว
เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือ ขอแก้ไขการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครราชสีมา ต่อพลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ ๒ โดยมีนายสหพล กาญจนเวนิช ในฐานะรองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดและผังการยกระดับรถไฟทางคู่แบบใหม่ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ เมื่อคณะไปถึงมีการเข้าไปพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ ๒ ก่อน แล้วจึงออกมายื่นหนังสือต่อพลโทวิชัย แชจอหอ เพื่อให้สื่อมวลชนบันทึกภาพ แต่แม่ทัพภาคที่ ๒ ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน
บุกยื่นหนังสือมทภ.๒
สำหรับหนังสือที่ประธานหอการค้าฯ และประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ยื่นต่อแม่ทัพภาคที่ ๒ มีเนื้อหาว่า “ตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ-สถานีขอนแก่น คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี ๒๕๖๒ และมีแผนดำเนินการก่อสร้างต่อในเส้นทางมาบกะเบา-สถานีชุมทางถนนจิระ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมวลชน ลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานและเพิ่มทางเลือกในการสัญจรจากเมืองโคราชสู่ภูมิภาคต่างๆ จะทำให้เมืองโคราชมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสานอย่างสมบูรณ์แบบ ขณะนี้หน่วยงานหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างในครั้งนี้ โดยเฉพาะเส้นทางช่วงผ่านเมือง มีจุดตัดเป็นถนนข้ามทางรถไฟเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และชุมชนขนาดใหญ่ จำนวน ๔ แห่ง ปัจจุบันใช้เจ้าหน้าที่การรถไฟควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องกั้น แต่รูปแบบในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่มีการยกเลิกจุดตัดทางข้ามถาวร ให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้แทน ดังนั้น หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เกิดความตระหนักกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงขอให้มีการแก้ไขออกแบบ โดยให้มีการยกระดับรางในช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา”
อ้างยกระดับดีกับโคราช
ภายหลังการยื่นหนังสือต่อแม่ทัพภาคที่ ๒ แล้ว นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ทราบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องทำรถไฟทางคู่วิ่งบนพื้นดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อจังหวัดนครราชสีมาโดยตรง จึงนำเรื่องนี้มาชี้แจงให้พลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ ๒ ทราบ เพื่อหารือช่วยเหลือและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการยกระดับทางรถไฟ เพราะมีผลประโยชน์และส่วนที่ดีกับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในเบื้องต้นการรถไฟจะสร้างเป็นกำแพงสูง ๒ เมตร ตลอดแนวระยะเส้นทางที่ผ่านตัวเมือง เพราะฉะนั้นสองฝั่งจะไปมาหาสู่กันลำบาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ที่ต้องใช้รถเข็นหรือสามล้อพ่วงต่างๆ จะต้องขึ้นสะพานสูงทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องยาก และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เรามองเห็นว่า ประโยชน์ที่แท้จริงคือการยกระดับรางขึ้นไป จะทำให้ได้ประโยชน์มากจากเส้นทางที่ยกขึ้นไป ด้านล่างก็วางแผนว่าควรจะเป็น ๔ ช่องจราจร ๔ ช่องทางด้วยกัน ก็จะได้ถนนเพิ่มมาอีกเส้นหนึ่ง รวมถึงในเรื่องของการวางท่อระบายน้ำ เป็นท่อใหญ่ขนาด ๒X๒ เมตร ที่วางแผนไว้ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมนั้นไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าทำกำแพง ๒ ชั้น ก็เท่ากับว่าเป็นเขื่อนกั้นน้ำไว้” นายชัชวาล กล่าว
ยืนยันไม่ทราบรายละเอียด
สำหรับกรณีที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครราชสีมาเพิ่งมีความตื่นตัว และออกมาเรียกร้องให้ยกระดับรางรถไฟนั้น นายชัชวาล กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเพิ่งตื่นตัว หรือเพิ่งออกมาโต้แย้ง แต่เป็นเพราะไม่รู้ความจริงที่แน่นอน เนื่องจากขณะที่มีการทำเวทีประชาพิจารณ์ ทราบรายละเอียดเพียงแต่ว่าต้องการรถไฟทางคู่หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าเห็นด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการที่จะให้รถไฟทางคู่วิ่งที่พื้นล่าง ไม่ได้มีการชี้แจงว่าจะต้องมีการกั้นกำแพง ๒ เมตร หากทราบตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ขณะนี้ทราบแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ และเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะต้องมีแน่นอน โดยเฉพาะจากนี้ไป จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว แทบจะเป็นเมืองคู่แฝดกับกรุงเทพมหานคร หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อนาคตจะแก้ไขไม่ไหว ดังนั้น หากทำตั้งแต่ตอนนี้ มีการทบทวนและสามารถขยับเปลี่ยนแบบหรือรูปแบบได้ เชื่อว่าจังหวัดนครราชสีมาก็จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
ต้องการให้ทบทวน
“เราเห็นว่า วิธีการที่จะยกระดับเป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยตรง และเป็นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นมีความต้องการเพียงให้เกิดการทบทวน เพราะเชื่อว่าหากทำแบบเดิมต่อไป ประชาชนได้รับผลกระทบแน่นอน และเมื่อถึงเวลาก่อสร้างอาจจะมีปัญหาในเรื่องของผู้ที่ทราบถึงข้อเท็จจริง อาจไม่ยอมให้เกิดการก่อสร้าง การทบทวนในครั้งนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เราไม่ปฏิเสธว่าการสร้างเกือกม้าก็ช่วยในเรื่องการสัญจรไปมาได้ แต่จะยากขึ้น และทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น ค่าน้ำมันที่จะต้องขับรถวนแล้ววนอีก จากเดิมที่เคยไปมาหาสู่กันโดยข้ามแค่ไม่กี่ ๑๐ เมตร อาจจะต้องย้อนเป็น ๔๐๐-๕๐๐ เมตร หรือบางจุดที่มีการจราจรหนาแน่น จะทำให้เป็นปัญหารถติดต่อไป ยิ่งประชาชนที่ต้องไปมาหาสู่โดยไม่มีรถยนต์ จำพวกสามล้อ หรือรถเข็น ก็จะยิ่งยากในการประกอบอาชีพ ถือเป็นปัญหาของประชาชนในระดับล่างด้วยซ้ำไป” นายชัชวาล กล่าว
นายชัชวาล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมายังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ดังนั้น หากมีการทบทวนการก่อสร้างก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความล่าช้าแต่ประการใด และในส่วนของหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหา รวมถึงนักการเมืองหรือภาคการเมืองในจังหวัดนครราชสีมาก็เล็งเห็น เพียงแต่ว่าไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยการเมือง แต่จะขับเคลื่อนด้วยประชาชน ว่าภาคประชาชนและเอกชนได้รับความเดือดร้อนในผลพวงที่จะตามมา ดังนั้น ตนจะเดินหน้าต่อไปในเรื่องของการเรียกร้องนี้ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
ทางด้านนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ขณะนี้ได้มีการทำหนังสือทักท้วงขอแก้ไขโครงการเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้มีการยื่นหนังสือดังกล่าวถึงแม่ทัพภาคที่ ๒ ในวันนี้ด้วย และตนคิดว่าน่าจะมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี เนื่องจากมีหลายส่วนที่ยังขาดอยู่ ได้แก่ เรื่องของการออกแบบ ซึ่งน่าจะทำมาพร้อมกันในส่วนของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง รูปแบบและจุดจอดของสถานีก็ควรจะมีการตัดสินใจเสียทีว่า ควรจะอยู่ที่ไหน หากสถานีอยู่ไกลประชาชนในเมืองจะลำบาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของการรถไฟได้รับทราบในจุดนี้แล้ว ส่วนจะทราบผลเมื่อใดนั้นยังไม่แน่ชัด
รองนายกฯ อธิบายรูปแบบ
ด้านนายสหพล กาญจนเวนิช รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และมีตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้นำรูปแบบการก่อสร้างถนนเกือกม้าและสะพานข้ามทางรถไฟต่างๆ ว่า นอกจากสะพานสูงที่บริเวณโรงแรมสีมาธานีแล้วต้องมาทำเพิ่มอีกหนึ่งคือสะพานบริเวณถนนสืบสิริ ไพลินสแควร์ ตะวันแดง เมื่อข้ามมาก็เกือบจะถึงสี่แยกวัดใหม่อัมพวัน เลยโรงเรียนมารีย์มาก็จะถูกยก และวิ่งข้ามทางรถไฟ แล้วมาลงที่ถนนพิบูลย์ละเอียด บริเวณปั๊มบางจาก กำลังก่อสร้างสถานีอยู่ ทางหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับแบบนี้ ๑๐๐% แต่เทศบาลนครฯ ขออนุญาตปรับแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเมืองคือ อยากให้มีลักษณะการยกสูงแบบ airport rail link ตลอดแนวแทนที่จะกั้นรั้ว ซึ่งระยะยังไม่ทราบแน่นอน เพราะตัวรถไฟจะไต่ขึ้นชันไม่ได้ ต้องใช้ระยะหลายกิโลเมตรในการไต่ขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ อาจจะต้องไต่ตั้งแต่นอกเขตเทศบาล คืออาจจะต้องไต่ตั้งแต่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ๒ เพื่อที่จะให้แต่ละแนวไม่ไปกระทบกับวิถีชีวิต ยกตัวอย่างให้เห็นที่ถนนราชดำเนิน จะเห็นว่าการข้ามจากจวนผู้ว่าไม่ได้ลงมานอกค่ายสุรนารีแล้วตรงเข้ามาในค่ายได้เช่นเดิม จะถูกเบี่ยงออกซ้ายที่คือรูปแบบประมาณ ๘๐% คือแบบเก่า ไม่ทราบว่าปัจจุบันปรับเป็นแบบใด ซึ่งขณะนี้เรายึดแบบเก่าที่มีอยู่ในมือ ปัจจุบันมีการทำหนังสือไปยังการรถไฟเพื่อขอแบบเพิ่มเติมที่มีการปรับปรุงแล้ว
อ้างกระทบเศรษฐกิจ
นอกจากนั้นนายสหพล กล่าวถึงผลดีกรณีที่ไม่มีทางรถไฟด้านล่างว่า หากไม่มีรถไฟข้างล่าง ในแง่เศรษฐกิจจะเดินทางสะดวกขึ้น เช่น กรณี ๕ แยกหัวรถไฟ ปัจจุบันหากวิ่งมาจะต้องชะลอความเร็วไต่ระดับนิดหน่อยและมีทางรถไฟ แต่ต่อไปจะเป็นถนนราบเพราะไม่มีรางอยู่ข้างล่างแล้ว การสัญจรก็จะสะดวกขึ้น ที่สำคัญที่สุดคนที่เคยมีวิถีชีวิตที่ดี เช่นบริเวณสะพานสูงทั้งบริเวณโรงแรมสีมาธานี และโรงแรมเฮอร์มิเทจที่หัวทะเล จะเห็นว่าห้องแถวสองฝั่งเคยอยู่อาศัยและค้าขายได้ แต่ต่อมาร้าง ถ้าเป็นยกระดับขึ้นมา สะพานนี้ก็ไม่มีความหมายที่ต้องใช้ต่อไป สามารถจะทุบทิ้งได้เลย ไม่มีทางรถไฟอยู่ด้านล่างจะกลายเป็นถนน ๖ เลน วิ่งตรงๆ ได้เลย ห้องแถวสองฝั่งซ้ายขวาจะคืนสภาพการค้าได้ เช่นเดียวกับบริเวณสีมาธานี ถ้าไม่มีสะพานสูงห้องแถวที่อยู่ด้านข้างจะเกิดขึ้นมาใหม่ทันที แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีสะพานลักษณะ overpass ข้ามมายังถนนสืบสิริ จะเห็นว่าบริเวณตะวันแดง หรือห้องแถวที่สร้างใหม่บริเวณไพลินสแควร์ ซึ่งยังไม่ปิดการขายคาดว่าจะขายไม่ได้เลย เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการยกระดับรถไฟทางคู่อย่างเดียว แต่จะมีเรื่องรถไฟความเร็วสูงด้วย เพราะฉะนั้นการหารือในห้วงนี้น่าจะหารือไปพร้อมกันว่า สถานีรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ใด จะปรับแบบอย่างไร รถไฟทางคู่ถ้าไม่เอารั้ว ๒ เมตรแล้ว รางเก่ายกเลิกจะทำเป็นถนนหรือไม่ หรือจะใช้ทำอะไร ซึ่งอาจจะมีรายได้อย่างอื่นที่เพิ่มเติมเข้ามาจากการที่ได้ใช้ เช่น พื้นที่ด้านล่างให้เทศบาลนครดำเนินการหรือหน่วยงานอื่นเช่าเพื่อทำถนน local road เหมือนที่เทศบาลฯ เช่าแล้วตัดถนนผ่านทางรถไฟ เช่นถนนเลียบนคร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๗ มิถุนายนนี้ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายชัชวาล วงศ์จร และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ มีกำหนดการเข้ายื่นหนังสือกรณีดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งหากมีรายละเอียดอย่างไร “โคราชคนอีสาน” จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป
ยืนยันออกแบบเหมาะสมแล้ว
“สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นนั้น มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสถานีบ้านเกาะ ซึ่งอยู่เลยชุมทางถนนจิระออกไป มีระยะทางผ่านท้องที่จังหวัดนครราชสีมาประมาณ ๘๐ กม. ตัวโครงการถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดินเช่นเดียวกัน ยกเว้นช่วงที่ผ่านตัวเมืองขอนแก่น เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับในบริเวณเดียวกันถึง ๕ แห่ง จึงได้ออกแบบให้เป็นทางรถไฟยกระดับข้ามถนนเดิมยาวตลอด เนื่องจากมีความคุ้มค่ามากกว่าการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเป็นแห่งๆ อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการยกระดับทางรถไฟ ส่วนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับจุดอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีระยะห่างกันค่อนข้างมาก ไม่คุ้มค่าที่จะออกแบบเป็นทางรถไฟยกระดับตลอดสาย การรถไฟฯ จึงออกแบบให้มีสะพานข้ามทางรถไฟ หรือถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟแล้วสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าทดแทนจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับเดิมทุกแห่ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยที่ประชาชนสองข้างทางรถไฟยังสามารถสัญจรไปมาผ่านทางรถไฟได้เหมือนเดิม ซึ่งรฟท.ขอยืนยันว่าการออกแบบดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักวิศวกรรม ความปลอดภัยและการแก้ไขปัญหาจราจร และความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นสำคัญ” นายอานนท์ กล่าว
โปรดติดตามข่าวโดยละเอียดจาก นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๔๑ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันศุกร์ที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๐
792 1,523