June 22,2019
ติวเข้มอปท. ๓๓๔ แห่ง โคราชเจ้าภาพ‘เบียนนาเล่’ ร่วมสร้างงานศิลป์ประจำถิ่น
โคราชเตรียมความพร้อม เป็นเจ้าภาพงานจัดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2020 ชู ‘เขาใหญ่’ เป็นพื้นที่จัดแสดง หวังสร้างภาพพจน์และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ โรงแรมสบาย จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างสรรค์ประติมากรรมประจำท้องถิ่น” จังหวัดนครราชสีมา ประจำปี ๒๕๖๒ พร้อมด้วยนายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา นายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ นายบุญเกิด ศรีสุขา อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน ๓๓๔ แห่ง
นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัด กล่าวว่า ในปี ๒๕๖๓ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพงานจัดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2020 เป็นกิจกรรมที่มีศิลปินจากทั่วโลกร่วมแสดงผลงานทางศิลปะ ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการร่วมเป็นเจ้าภาพ และร่วมการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงมีดำริให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมโดยการสร้างสรรค์งานประติมากรรมประจำท้องถิ่นของตนเองให้ มีอัตลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๓๓๔ แห่งๆ ละ ๒ คน รวมจำนวน ๖๖๔ คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการค้นหาอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น นำมาสู่การออกแบบด้านประติมากรรม และเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดทำงบประมาณของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นสถานที่จัดงาน Thailand Biennale ครั้งที่ ๒ ปี ๒๐๒๐ ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาได้ประชุมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว โดยกำหนดช่วงเวลาที่จัดงานคือ เดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกมัณฑนากร เพื่อเตรียมคัดเลือกศิลปินที่จะมาแสดงชิ้นงานที่จังหวัดนครราชสีมา โดยพื้นที่ที่จะแสดงกำหนดไว้ ๒ จุด คือ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง และในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงวัฒนธรรมเสนอจุดที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง คลองไผ่ และที่ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และชมงานศิลป์ด้วย ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะสามารถสรุปได้ชัดเจนว่าจะเป็นสถานที่ใดเพื่อจัดงาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ทางจังหวัดเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการจัดงาน การเข้าร่วมชมงาน จึงเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ด้วยการจัดงานศิลปกรรมประจำท้องถิ่น ซึ่งหากนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมผลงานของศิลปินระดับชาติ หรือระดับโลกแล้ว ไปท้องถิ่นต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมาก็จะมีงานศิลป์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้ชม อาจจะเป็นงานศิลป์ที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ความคิดความเชื่อของคนในพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม หรือในรูปแบบใดก็ได้ โดยจะจัดสรรให้แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้คิดและออกแบบ ในวันนี้จึงเชิญผู้บริหาร และบุคลากรในท้องถิ่นมาร่วมประชุม เพื่อให้ศิลปินได้ให้ความรู้และแนวทางของการจัดทำงานศิลปะ และให้สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ให้ความรู้ในเรื่องของการตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการนี้ในงบประมาณปี ๒๕๖๓ ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการเปิดงาน Thailand Biennale ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ต่อไป
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีการจัดงานแล้วที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นเหมือนต้นแบบให้โคราช คือ เมื่อดูผลจากการประเมินความพึงพอใจของผู้ไปเยี่ยมชม และมาศึกษาต่อ เช่น ผู้เยี่ยมชมบางกลุ่มเห็นว่าการจัดพื้นที่แสดงที่ ห่างเกินไป ทำให้ไม่มีคนอยากไปชมมากนัก ดังนั้น จะนำมาสรุปว่าจะจัดในพื้นที่ที่รวมๆ กัน เช่น เขาใหญ่ ก็จะมีจุดเดียว สามารถลงเดิน และเยี่ยมชมงานได้ในละแวกเดียวกัน เรื่องของไกด์ท้องถิ่น จำเป็นต้องมีไกด์ตลอดเวลา เพื่อบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังได้ว่างานศิลป์แต่ละอย่างคืออะไร และมีอะไรบ้าง อีกทั้ง ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา จะจัดในส่วนของพื้นที่สาธารณะที่ทางจังหวัด หรือทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล และให้งานศิลปะนั้นจัดแสดงจนกว่าจะพังไปเอง ซึ่งทางจังหวัดจะดูแลไว้ให้นานที่สุด ทั้งนี้ งบประมาณในส่วนของทางจังหวัดที่ตั้งไว้เพื่อจัดเตรียมงาน อยู่ที่ ๔๐ ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างการของบประมาณเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยกันว่า ในส่วนของทางจังหวัดจะใช้งบประมาณด้านใด โดยหลักใหญ่ๆ ที่มีการแบ่งไว้ คือ ใช้ในเรื่องของการทำหนังสือ การประชาสัมพันธ์ การจัดพิมพ์แผนที่ คำอธิบายชิ้นงาน การปรับปรุงพื้นที่จัดแสดง การจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น ปูน สี ทางจังหวัดสามารถใช้งบประมาณตรงนี้ได้ แต่ในเรื่องชิ้นงาน การตอบแทนศิลปิน ทางจังหวัดจะไม่มีความรู้ และไม่มีราคากลาง จึงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานจัดสรรต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ ยังได้รับเกียรติจากนายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) นายบุญเกิด ศรีสุขา และผศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องประติมากรรมกับชุมชน, นายวัชรวิชย์ สุขวัฒนาภิรมย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ให้ความรู้ในเรื่องของแนวทางการจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการจัดนิทรรศการ แสดงถึงรูปแบบประติมากรรมในพื้นที่สาธารณะ จากนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัด ภายใต้กิจกรรมเมืองศิลปะและวัฒนธรรม (ART and Culture) สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จำนวน ๙๔,๑๑๘ บาท
อนึ่ง ในปี ๒๕๖๐ รัฐบาลได้ประกาศเมืองศิลปะของประเทศ ๓ แห่ง คือ จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดกระบี่ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมสนับสนุนงานด้านศิลปะร่วมสมัยสู่ระดับสากล และในปี ๒๕๖๑ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดกระบี่ได้จัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand biennale ครั้งที่ ๑ ณ จังหวัดกระบี่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และครั้งที่ ๒ คณะกรรมการจัดงานเบียนนาเล่ได้มีมติ พิจารณาคัดเลือกจังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่จัดงานการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand biennale, Korat 2020 จะเป็นกิจกรรมที่สร้างภาพพจน์และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ ให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้เปิดประตูบ้านต้อนรับแขกผู้มาเยือนรวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๙ วันศุกร์ที่ ๒๑-วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
857 1,499