20thApril

20thApril

20thApril

 

July 27,2019

มทส. ๒๙ ปีแห่งความสำเร็จ ขับเคลื่อน ๕ ยุทธศาสตร์ สร้างงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

           มทส. แถลงผลสัมฤทธิ์ ๒๙ ปีการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “SUT Re-profile 2020” ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรม พร้อมเปิดหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

           เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานในงาน “สานสัมพันธ์ มทส.-สื่อมวลชน ประจำปี ๒๕๖๒” โดยมี รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินและวิสาหกิจ รศ.ดร.กองพล อารีรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี และนายสุนทร จันทร์รังสี ผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน และสื่อมวลชน ร่วมงาน โดยภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัยของคณาจารย์ และนักศึกษาด้วย
๒๙ ปี บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ

           รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. แถลงว่า ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจะมีอายุครบ ๒๙ ปี ถึงแม้ว่าจะมีอายุเพียง ๒๙ ปี แต่ มทส.เดินบนเส้นทางแห่งความสำเร็จมาโดยตลอด ในปัจจุบัน มทส.สามารถก้าวเป็นมหาวิทยาลัย    ชั้นนำของประเทศได้สำเร็จ เห็นได้จากการได้รับการจัดอันดับจาก Times Higher Education (THE) สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ในปี ๒๕๖๒ อยู่ในกลุ่มอันดับ ๑๘๑–๑๙๐ มหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย และเป็นอันดับ ๑ ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งเป็นอันดับ ๑ ของไทย ติดกลุ่มอันดับ ๒๐๑–๒๕๐ ของโลก จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า ๕๐ ปี

           “ผมเชื่อมั่นว่าเราจะได้เห็นความก้าวหน้าและผลงานเชิงประจักษ์มากยิ่งขึ้นในปี ๒๕๖๓ และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่างที่มากกว่าการเป็น Technological University แต่เป็น Social Enterprise University มุ่งไปสู่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับ ๑ ของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง” อธิการบดี มทส. กล่าว

“SUT Re-profile 2020”

           รศ.ดร.วีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา มทส.ผลักดันแนวนโยบาย “SUT Re-profile 2020” เพื่อเป็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบริบทของ มทส.ให้มีรูปแบบใหม่ ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องปรับ แปลง และเปลี่ยน เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลง เพราะยุคสมัยมีการผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ยุคดิจิทัล ยุคเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ทาง มทส.มีการเปลี่ยนแปลงแน่นนอน โดยเฉพาะตามนโยบายของประเทศ การเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “ไทยแลนด์ ๔.๐” และความท้าทายทางเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา หากเป็นสมัยก่อนอาจสร้างความสะดวกสบาย แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแล้วทำให้เราตายตัวลง ทำให้ธุรกิจบางประเภทไม่สามารถทำมาหากินได้ อีกทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนเกิดน้อยลง ทำให้จำนวนคนศึกษาในระดับต่างๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น    มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง ก็ปิดตัวลง 

           การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องเกิดการปรับและเปลี่ยน เพราะหากเราจะคิดในรูปแบบเดิม ดำเนินการแบบเดิม คงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ “SUT Re-profile 2020” โดยดำเนินการตาม ๕ ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) โดยสร้างนักศึกษาที่เป็นเลิศ พัฒนาหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ทันสมัย ยืดหยุ่นได้ ปรับการเรียนการสอนเป็น Active Learning มี Learning Space สนับสนุนระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ อาจารย์ นักศึกษาไม่จำเป็นต้องจัดการเรียน การสอนในห้องเรียนอย่างเดียว และควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการสอนของคณาจารย์ให้ได้มาตรฐานสากลตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ UKPSF การสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ ให้มีความพร้อมด้านวิชาการและความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองโลก รวมทั้งสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา

           “เราต้องการให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ให้มีความพร้อมเชิงวิชาการ วิชาชีพ มีความพร้อมที่จะเป็นนักวิจัย มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ การทำงาน เป็นผู้ประกอบการ และในที่สุดมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองของประเทศไทย และเป็นพลเมืองของโลก จากที่กล่าวมา มหาวิทยาลัยไม่ได้มุ่งมั่นที่จะให้บัณฑิตจบออกไปเพื่อรับจ้างทำงานอย่างเดียว ยังฝึกฝนให้บัณฑิตสร้างความสามารถ สร้างนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ”

มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย

           รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวอีกว่า การที่ มทส.เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ หรืออันดับ ๓ ได้ ต้องขอบคุณกลุ่มนักวิจัย คณาจารย์ที่ทำงานวิจัย ระบบนิเวศน์การนวิจัยที่เรามีอยู่ ร่วมกันดำเนินการตามยุทธศาสตร์ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research University) โดยมีกองทุนนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ มีนักวิจัยเต็มเวลา ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ และเพื่อยกระดับการวิจัยอย่างเข้มข้น ได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือ CoE (Center of Excellence) เพิ่มขึ้นอีก ๕ ด้าน เพื่อเป็นการยืนยันว่า มทส.ไม่ได้หยุดการทำงานวิจัยไว้อยู่ที่การเขียนเป็นเปเปอร์เท่านั้น แต่วิจัยของเราจะต้องเป็นการสร้างนวัตกรรม ซึ่งสามารถทำให้งานวิจัยนั้นออกดอกออกผลให้เป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจ 
โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เพิ่มขึ้นอีก ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการประยุกต์ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช ด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร และด้านความเป็นผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีอยู่ ๕ ด้าน คือ ด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และด้านชีวมวล

มหาวิทยาลัยที่คู่เคียงสังคม

           รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า การสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Social & Commercial – STI Impact) ซึ่งในอีก ๓ ปีข้างหน้า มทส.จะมีอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) ส่งผลต่อการพัฒนาไปสู่เมืองวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม นอกจากนี้ ได้สร้างบรรยากาศและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา Startup อาทิ SEDA Innovation Playground หรือ Technopolis Co-Working Space พื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้ประกอบการ 

           “มทส. มีความประสงค์ มุ่งมั่น และชัดเจนว่า เราจะทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยที่คู่เคียงสังคม เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ตลอดทั้งยกระดับความร่วมมือกับจังหวัดนครราชสีมาอย่างเต็มรูปแบบ ในปัจจุบันมีการทำเยอะ แต่เราก็จะทำให้มากขึ้นต่อๆ ไป”

           การสร้างความผูกพันกับวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North-Eastern Culture Engagement) โดยใช้ความรู้ความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้บริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ประโยชน์จาก “อุทยานการเรียนรู้สิรินธร” และ “ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ” ซึ่งปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรม พืชฯ ภายใต้การดำเนินงานของ มทส. ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy Innovation Hubs เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลของสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

           สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งอันเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การบริหารงานที่นำสมัย เป็นธรรม และการสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ (Smart Management, Good Governance and Quality Ecosystem) มทส.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบนิเวศน์คุณภาพอยู่แล้ว แต่เราจะทำให้มีคุณภาพ และมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างมหาวิทยาลัยที่นำสมัยด้วยดิจิทัล สร้าง Sustainability Green and Clean University รวมไปถึง การสร้างความสัมพันธ์กับศิษย์เก่า การบริหารการเงินที่สมดุล การสร้างความเชื่อมโยงและเป็น Social Enterprise การสร้างวัฒนธรรมแห่งคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

           “มหาวิทยาลัยนี้ในอนาคต ตามแผนพัฒนาจะสร้างเป็น Social Enterprise แห่งแรกของประเทศไทย คือ องค์กรที่เป็นของรัฐ แต่สามารถที่จะดำเนินการในเชิงธุรกิจได้ และการนำคุณค่าของการพัฒนาเชิงธุรกิจมาแบ่งปันสัดส่วนในการพัฒนามหาวิทยาลัย และท้องถิ่นให้เจริญพัฒนาไปพร้อมกัน มหาวิทยาลัยจะต้องไม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาตนเอง แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างขึ้นมาเพื่อการพัฒนาภูมิภาค จังหวัด ประชาชน และประเทศ” อธิการบดี กล่าวท้ายที่สุด

“หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่”

           จากนั้น เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ในวันเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้เปิดตัว “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่” โดยร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำ เพื่อสนองนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการที่จับมือกับมหาวิทยาลัยร่วมจัดการเรียนการสอน สร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์และมีความพร้อมในการทำงาน เพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปทั้งหลักสูตรอบรมระยะสั้น ประกาศนียบัตร และหลักสูตรปริญญา

           รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า มทส.โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้ดำเนินการจัด “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่” ซึ่งผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ ตามนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์และมีความพร้อมในการทำงาน “หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มทส.” เป็นการจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลาง และกลุ่มธุรกิจใหม่ จากทั่วประเทศกว่า ๕๐ แห่ง ซึ่งมีความเข้าใจถึงเทคโนโลยีในด้านการผลิต ด้านการตลาดและด้านอื่นๆ เป็นอย่างดี และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ สำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างหลักสูตรนี้ ในการวางรูปแบบการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีขึ้นทั้งในมหาวิทยาลัยและสถานประกอบการ โดยมีทั้งการอบรมระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรปริญญา การจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่นี้ จะสามารถสร้างบัณฑิตที่มีความพร้อมในการทำงานตรงสภาพความเป็นจริง ช่วยลดเวลาในการจัดอบรมเพื่อเข้าสู่งานของที่สถานประกอบการ อีกทั้ง ยังมีหลักสูตรเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคคลทั่วไปหรือบุคลากรภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หลักสูตรนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

           นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการว่า หากนักเรียน นักศึกษา ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ และถนัดจะเป็นเหมือนการสร้างความแข็งแรง เพราะความแข็งแรงในประเทศชาติมาจากความแข็งแรงของประชากร ซึ่งมาจากนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ และ มทส.เองก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตและสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตรงความต้องการ มีทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ มีสิ่งที่ทำให้ประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างแน่นอน

           “ในปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเติบโตขึ้นอย่างมีระดับ เห็นได้จากที่ไม่ว่าจะเป็นการที่ห้างต่างๆ หรือโรงแรมดังๆ อย่างแคนทารี เลือกมาตั้งที่โคราช นั่นหมายความว่าโคราชกำลังเติบโต หากถามว่าทำไมห้างใหญ่ๆ หรือโรงแรม และผู้ประกอบการเลือกเข้ามาในโคราช ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็จะตอบว่า เพราะโคราชมีคนที่มีคุณภาพ ทำให้สถานประกอบการต่างๆ เริ่มหลั่งไหลเข้ามาที่โคราช ซึ่ง มทส. โดยตลอดระยะเวลา ๒๙ ปี เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคคลที่มีคุณภาพ และยังเป็นส่วนสำคัญในการทำให้จังหวัดนครราชสีมาพัฒนา” นายสุรวุฒิ กล่าว

           สำหรับหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มทส. ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ ประกอบด้วย สาขาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีสังคม แบ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร ๑๘ หลักสูตร และระดับปริญญาบัตรตรี-โท  ๘ หลักสูตร มีสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการบริหารจัดการ เข้าร่วมผลิตบัณฑิต กว่า ๕๐ แห่งทั่วประเทศ  เปิดการเรียนการสอนวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๐๔๔-๒๒๔๗๖๕

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


782 1368