28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 27,2019

รมว.วัฒนธรรมยกย่อง ‘ดร.เมตต์’ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น

            ประเดิมงานแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ประกาศผลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ประจำปี ๒๕๖๒ คนโคราช “ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต” ได้การยกย่องเป็นผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น จากผลงาน “พจนานุกรมภาษาโคราช” ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองย่าโม

            ตามที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมความเป็นไทย กิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยสวธ.จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๖๒ และคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน และการเขียน เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมไทยในการใช้ภาษาไทยและภาษาไทยถิ่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

            ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมศิลปากรได้คัดเลือกบุคคลและองค์กรเพื่อรับเข็มโล่เชิดชูเกียรติและมอบรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จะมีการจัดนิทรรศการและมอบรางวัลที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย และให้คนไทยทุกคนตระหนักรู้ว่าวันภาษาไทยแห่งชาติ

ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น

            โดยบุคคลและองค์กรรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๒ ในส่วนของผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ๑๒ รางวัล แบ่งเป็นคนไทย ๙ ราย ได้แก่ นายดำรงศักดิ์ บุญสู่, นายดุสิต เชาวชาติ, นายปั่น นันสว่าง, พระครูสีลสาราภรณ์ (สมสิทธิ์ รกฺขิตสีโล), นายมนตรี คงแก้ว, นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต, นางยินดี ตรีรัญเพชร, รศ.วีณา วีสเพ็ญ และ นางอบเชย ศรีสุข เป็นชาวต่างชาติ ๓ ราย ได้แก่ นายคริสโตเฟอร์ เชฟ, นายมาร์ติน วีลเลอร์ และนายอุดม สุขเสน่ห์ 

            ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประกอบด้วย ประเภทบุคคล คือ รศ.สืบพงศ์ ธรรมชาติ และประเภทองค์กร ได้แก่ กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม และศุมาสถาบันภาษาและวัฒนธรรม

คนโคราชใช้ภาษาถิ่นดีเด่น

            นายไชยนันท์ แสงงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการคัดเลือกบุคคลเพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปี ๒๕๖๒

            “เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมไทย สำหรับด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นนั้น จังหวัดนครราชสีมาได้คัดเลือก ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ประธานชมรมอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านโคราช จิตอาสาราชประชาสมาสัย ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมพิจารณา ปรากฏว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่า ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต ได้รับการย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒ และได้จัดพิธีมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ”

            นายไชยนันท์ กล่าวอีกว่า “ก่อนที่ ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต จะได้รับการประกาศย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมนั้น ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต เคยได้รับรางวัล “คนดีศรีโคราช” สาขาผู้ส่งเสริมรักษาภาษาและวรรณศิลป์ของท้องถิ่นจากจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๕๖๑”
ด้าน ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต กล่าวความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกดีใจมาก ครอบครัวก็มีความภูมิใจ จากการทำเพื่อสังคม ทำงานด้านภาษาและวัฒนธรรมมา ผมไม่ได้หวังว่าจะได้รับรางวัลหรือเงินทองอะไร ซึ่งทุกอย่างที่ทำไปผมทำด้วยใจทั้งสิ้น ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาถิ่นโคราช ซึ่งการที่ผมได้รับรางวัลใช้ภาษาถิ่นดีเด่นนั้น ถ้าไม่ใช่คนโคราชที่รู้จักผมก็คงจะเข้าใจว่า ภาษาถิ่นที่ว่าคือภาษาอีสาน ตรงนี้ก็อยากจะทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วความรู้สึกผมคือ ดีใจมากๆ”

            “การพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้มีจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้ส่งบุคคลเข้ารับการคัดเลือกในด้านต่างๆ ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นนั้น ดร.เมตต์ฯ เป็นผู้หนึ่งจากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกอีก ๗ คน มีผลงานด้านภาษาถิ่นโคราชในเชิงประจักษ์ กล่าวคือ มีการรวบรวมจัดทำเป็นหนังสือ “พจนานุกรมภาษาโคราช” และมีการแก้ไขปรับปรุงมาโดยตลอด นับว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดนครราชสีมา” วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวในตอนท้าย

            ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นนั้น ในส่วนของชาวไทย ประกอบด้วย ๑.มีสัญชาติไทย และยังมีชีวิตอยู่ ๒.ชำนาญการใช้ภาษาไทยถิ่น และมีผลงานการสร้างสรรค์ หรือสืบสาน หรืออนุรักษ์ ภาษาไทยถิ่นเป็นที่ประจักษ์ ๓.มีคุณธรรมและไม่เคยมีประวัติเสียหาย กรณีผู้ถูกคัดเลือกเป็นชาวต่างประเทศ ๑.เป็นชาวต่างประเทศ และยังมีชีวิตอยู่ ๒.เป็นชาวต่างประเทศที่ใช้ภาษาไทยถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ๓.มีคุณธรรมและไม่เคยมีประวัติเสียหาย 

 

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ - วันพุธที่ ๓๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


786 1413