28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 27,2019

‘ระนองรักษ์’เตรียมขอ ๑๐๐ ล. แก้ภัยแล้ง‘ห้วยแถลง’ สจ.ถาม‘อบจ.ดูแลถนนไหวไหม?’

อบจ.โคราชประชุมสมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ “ส.จ.สมพร จินตนามณีรัตน์” ดาวสภา ถามฝ่ายบริหาร งบ ๒๐๐ ล้านดูแลถนนในโคราชไหวหรือไม่ ด้านประธานสภาฯ ลุกขึ้นขออภิปรายผลักดันงบสนับสนุนโรงเรียนในสังกัด “ระนองรักษ์” ผุดไอเดียเบิกงบ ๑๐๐ ล้าน แก้ปัญหาภัยแล้งโคราช

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) สำนักการช่าง ต.มะเริง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ โดยมีฝ่ายบริหาร ที่นำโดย ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายวิสูตร เจริญสันธิ์ และนายประดิษฐ์ กิ่งโก้ รองนายก อบจ.นครราชสีมา ฝ่ายสภาฯ นำโดย นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภา อบจ. นายชวาล พัฒนากำชัย และนายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ รองประธานสภาอบจ. และสมาชิกสภาฯ ๒๙ คน จากทั้งหมดที่มีในขณะนี้ ๓๓ คน (ที่เหลือ ๑๕ คนลาออกไปสมัครส.ส.) และหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา กล่าวเปิดประชุมและดำเนินการตามระเบียบวาระ โดยระเบียบวาระการประชุม มีทั้งสิ้น ๙ วาระ ได้แก่ ระเบียบวาระที่ ๑ ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง อบจ.นครราชสีมา ได้ประกาศใช้แผนดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ แก้ไขครั้งที่ ๔ และ อบจ.ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๒), ระเบียบวาระที่ ๒ รับรองรายงานการประชุมฯ สมัยวิสามัญสมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒, ระเบียบวาระที่ ๓ เป็นญัตติ เรื่องขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ มติที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์, ระเบียบวาระที่ ๔ ญัตติ เรื่องขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒ มติที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์, ระเบียบวาระที่ ๕ ญัตติ ขอความเห็นชอบสมัครเข้าร่วมสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มติที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์, ระเบียบวาระที่ ๖ เป็นการกระทู้ถามทั่วไป โดย นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.อ.โนนสูง เขต ๒, ระเบียบวาระที่ ๗ ญัตติ ขออนุมัติขยายเวลาเสนอร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๓, ระเบียบวาระที่ ๘ ญัตติ เรื่องขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ และระเบียบวาระที่ ๙ เป็นเรื่องอื่นๆ ที่สมาชิกสภาฯแจ้งปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

ขอมติโอนงบประมาณ

นายวิสูตร เจริญสันธิ์ รองนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวรายงานระเบียบวาระที่ ๓ เป็นญัตติ เรื่องขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ ว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีความประสงค์จะโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อประโยชน์ในการบริหาร ด้วยเหตุผลดังนี้ ๑.เพื่อให้มีเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ๒.เรื่องจัดซื้อครุภัณฑ์ทดแทนของเดิมที่ชำรุด ๓.เพื่อให้ประโยชน์เป็นไปตามเกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุด โดยมีรายการโอนงบประมาณ ๓ รายการ จำนวนเงิน ๑๓๒,๑๐๐ บาท ประกอบด้วย ๑.โครงการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ จำนวนเงิน ๙๔๒,๐๐๐ บาท ๒.ค่าใช้จ่ายในการ  จัดทำแผนการดำเนินงานฉบับประจำปีและฉบับแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวนเงิน ๒๕,๙๐๐ บาท ๓.โครงการฝึกอบรมสำนักงานทัศนศึกษาดูงานด้านดาราศาตร์และวิทยาศาสตร์ จำนวนเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท สำนักการคลังจำนวน ๒ รายการ จำนวนเงิน ๔๙,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย ๑.คอมพิวเตอร์ประจำสำนักงาน จอภาพหรือจอแสดงภาพขนาดไม่น้อยกว่า ๑๙ นิ้ว จำนวน ๒ เครื่อง จำนวนเงิน ๓๒,๐๐๐ และเครื่องพิมพ์มัลติฟังชั่นชนิดเลเซอร์หรือชนิด LED สี จำนวน ๑ เครื่อง เป็นเงิน ๑๗,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๕ รายการ ใช้งบประมาณ ๑๘๑,๑๐๐ บาท”

รายการโอนเพิ่ม ตั้งรายการใหม่และงบประมาณจำนวน ๖ รายการ จำนวนเงิน ๑๓๒,๑๐๐ บาท ประกอบด้วย ๑.เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับงานสำนักงาน จอแสดงภาพไม่น้อยกว่า ๑๙ นิ้ว จำนวน ๔ เครื่อง เป็นเงิน ๖๘,๐๐๐ บาท ๒.โปรแกรมระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ประเภทติดตั้งจากโรงงาน จำนวน ๔ ชุด เป็นเงิน ๑๕,๒๐๐ บาท ๓.เครื่องสำรองไฟฟ้าขนาด 800 AV จำนวน ๕ เครื่อง เป็นเงิน ๑๒,๕๐๐ บาท เครื่องพิมพ์เลเซอร์หรือ LED ขาวดำ จำนวน ๑ เครื่อง เป็นเงิน ๒,๖๐๐ บาท ๕.อุปกรณ์กระจายสัญญาณ L2 Switch ขนาด ๒๔ ช่อง แบบที่ ๑ จำนวน ๒ ชุด เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท ๖.เครื่องตัดหญ้าแบบข้ออ่อน จำนวน ๒ เครื่อง เป็นเงิน ๒๑,๘๐๐ บาท สำนักกองคลังจำนวน ๒ รายการ จำนวนเงิน ๔๙,๐๐๐ บาท ประกอบด้วย ๑.คอมพิวเตอร์ประจำสำนักงาน จอภาพหรือจอแสดงภาพขนาดไม่น้อยกว่า ๑๙ นิ้ว จำนวน ๒ เครื่อง จำนวนเงิน ๓๔,๐๐๐ และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นชนิดเลเซอร์หรือชนิด LED สี จำนวน ๑ เครื่อง เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๘ รายการ งบประมาณ ๑๘๑,๑๐๐ บาท”
หลังจบรายงาน นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ได้ขอมติในที่ประชุมเพื่อขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้คัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น

อบจ.มีศักยภาพดูแลถนนแค่ไหน?

ในระเบียบวาระที่ ๖ เป็นการกระทู้ถามทั่วไป นายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.อำเภอโนนสูง เขต ๒ ตั้งกระทู้ถามว่า “กระทู้ถามในวันนี้ที่ผมเตรียมมา จะเกิดประโยชน์กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ในประเด็นที่ ๑ ปัจจุบันถนนที่ อบจ.ถ่ายโอนมารับผิดชอบจำนวนทั้งจังหวัดมีกี่เส้นทาง ถนนทุกสายมีหมายเลขกำกับหมด มีหมายเลขอะไรบ้าง อยู่ที่อำเภอใดบ้าง ถนนแต่ละสายยาวกี่กิโลเมตร ตรงนี้อยากให้ชี้แจง และประเด็นที่ ๒ ถนนที่ถ่ายโอนมาอยู่ในการดูแลของ อบจ.เท่าที่ทราบมา มีอยู่กว่า ๑๐๐ เส้นทาง แต่ไม่ทราบว่าอยู่ในอำเภอใดบ้าง ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เราก็อยากมีส่วนร่วม ถ้าเผื่อว่าประชาชนเดือดร้อนแล้ว อบจ.มีศักยภาพไม่พอแก้ไขจริงๆ คือไม่มีงบประมาณในการดูแล ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก็คือพี่น้องประชาชนในโคราช ซึ่งสภาฯ แห่งนี้ก็เห็นใจฝ่ายบริหารเหมือนกัน งบประมาณในแต่ละปีก็น้อยนิด ใช้ดูแลถนนหนทางไปก็ ๒๐๐ ล้าน เฉพาะบำรุงรักษาก็ไม่พอแล้ว อยากถามว่า ถนนกว่า ๑,๕๐๐ กิโลเมตร จะสามารถถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่นดูแลได้ไหม เช่น กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะมีกระบวนการอย่างไร สำหรับประเด็นนี้ขอคำชี้แจงเป็นเอกสาร และประเด็นที่ ๓ ปัจจุบันเครื่องจักรกลที่ใช้ได้จริงของ อบจ.มีกี่ชุดและสามารถใช้งานได้กี่ชุด”

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ตอบว่า “สำหรับถนนที่โอนมาแล้วมีทั้งหมด ๑๙๙ เส้นทาง เป็นจำนวนกว่า ๑,๒๒๖ กิโลเมตร อบจ.ไม่มีถนนที่ถ่ายโอนอยู่ที่อำเภอลำทะเมนชัย สำหรับเอกสารจะขอมอบให้ประธานสภาฯ ฝากไปให้ ส.จ.สมพรฯ สำหรับเอกสารยังไม่ใช่ทางการ โดยหลังจากนี้จะขอเวลารวบรวมข้อมูลและจะทำเอกสารอย่างเป็นทางการส่งไปให้”

ปธ.สภาฯขออภิปรายหนุนโรงเรียน

ต่อมา นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้ นายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยขอลงมาอภิปรายระเบียบวาระที่ ๙ เป็นเรื่องอื่นๆ ว่า “จากการถ่ายโอนโรงเรียน ๕๘ แห่งมาจาก สพฐ. ทั้ง ๗ เขตในนครราชสีมา มาสังกัดในองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเกือบ ๑๐ ปี สำหรับลูกหลานที่มาเรียนในโรงเรียนของ อบจ.บางโรงเรียนอาจจะยังขาดบางสิ่งบางอย่างให้กับเด็ก ต้องการให้เพื่อนสมาชิกสภาฯ ช่วยกันผลักดันในด้านงบประมาณเพื่อนำไปช่วยเหลือทุกโรงเรียน และช่วยกันพูดคุยกับคณะครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่โรงเรียนพบอยู่ และต้องการให้ อบจ.ช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเราต้อง ช่วยกันเพื่อลูกหลานจะได้ไม่ต้องย้ายออกไปศึกษาในโรงเรียนที่มีต้นทุนสูงหรืออยู่ไกลบ้าน”

“ในฐานะที่ผมเป็นประธานสภาฯ ก็ได้มีโอกาสไปดูหลายๆ โรงเรียน พบว่า ทุกแห่งยังมีเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่จะเป็นเรื่องอะไรก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนนั้นๆ และการแก้ไขที่ อบจ.จะช่วยเหลือเข้าไป ผมมองว่า โรงเรียนเหล่านี้มีโอกาสได้รับการแก้ไขโดยด่วนกว่าที่อื่นๆ เพราะระบบของเรารวดเร็วกว่ากรมกองการศึกษาต่างๆ เพราะกว่าเรื่องจะผ่านจังหวัด ไปถึงกรม และกลับมาแก้ไขต้องใช้เวลาที่นาน สำหรับ อบจ.หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้เลย” ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา กล่าว

นายศิริพงศ์ มกรพงศ์ ส.อบจ.อำเภอสีคิ้ว กล่าวว่า “ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ขอฝากประธานสภาฯ ผ่านไปยังฝ่ายบริหารว่า เนื่องจากอำเภอสีคิ้วประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีอยู่ ๒ ตำบลในขณะนี้ที่ขาดน้ำใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งผมได้ทำเรื่องขอรถขุดเจาะบาดาลไป แต่ทราบว่านำไปช่วยในเขตอื่นๆ อยู่ ขอเพื่อนๆ สมาชิกสภาฯ แห่งนี้อย่าใช้นาน”
เล็งของบ ๑๐๐ ล้านแก้ภัยแล้ง

ภายหลังการประชุมสภาฯ เสร็จ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีภัยแล้งว่า “ภัยแล้งถือเป็นปัญหาอย่างหนักในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะที่อำเภอห้วยแถลง เนื่องจากอำเภอห้วยแถลงไม่เคยได้รับผลกระทบต่อการขาดน้ำอย่างรุนแรงเช่นนี้ ถือว่าปีนี้แล้งหนักในรอบ ๓๐ ปีเลยทีเดียว ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนลงพื้นที่ตรวจสอบและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่ห้วยแถลง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าต้องใช้งบประมาณกว่า ๑๐๐ ล้านบาทในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และวางระบบต่างๆ ที่จะเป็นมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดภัยแล้งในภาวะฉุกเฉินได้ ขณะนี้มีโครงการที่ได้คิดมาเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในภาวะฉุกเฉิน โดยจะไปดูงานการทำแก้มลิง การทำธนาคารน้ำ เพื่อหาแหล่งพื้นที่ธรรมชาติในการขุดเจาะน้ำบาดาล และการกักเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยแล้งในขั้นวิกฤตขึ้นมา จังหวัดนครราชสีมาและประชาชนในพื้นที่ก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยแล้งอย่างทุกวันนี้”

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๑ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


780 1423