September 25,2019
๑ ปีนำสายไฟฟ้าลงดิน คาดพลิกโฉมนครโคราช
เริ่มสายไฟฟ้าลงดินในเขตเทศบาลนครโคราช ๒,๔๐๐ ล้านบาท ตั้งเป้าระยะเวลา ๑ ปี เสร็จภายในปี ๒๕๖๓ หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา
ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้นำเสนอข่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และคณะผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟังรายงานรายละเอียดโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ก่อนจะมีการแถลงข่าวในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ โดยมีนายอิทธิชัย ปกินนกะ รองผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟฉ.๓) เป็นผู้ชี้แจงนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายนุกูล ตูพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA พร้อมด้วยนายจาตุรงค์ สุขะเสน ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าว “โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา” ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ โดยมีพนักงานการไฟฟ้า ประชาชน และผู้ประกอบการร้านค้าในจังหวัดนครราชสีมา เข้ารับฟังกว่า ๓๐๐ คน
เผยใช้งบกว่าหมื่นล้าน
นายนุกูล ตูพานิช กล่าวว่า ตามที่ PEA จัดงานแถลงข่าวในวันนี้ เพื่อแจ้งให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาได้ทราบแผนการดำเนินงานของ PEA สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยมีใจความสำคัญอนุมัติและเห็นชอบให้ PEA ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการเพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการ ๔ เมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ วงเงินลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ PEA จำนวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมา วงเงินลงทุน ๒,๔๓๓ ล้านบาท (สองพันสี่ร้อยสามสิบสามล้านบาท)
ขอเวลาดำเนินการ ๑ ปี
นายจาตุรงค์ สุขะเสน กล่าวว่า แผนงานการดำเนินงานในเทศบาลนครนครราชสีมา ในระยะที่ ๑ แบ่งเป็น ๖ ล็อต รวมระยะทาง ๑๗.๓๗ วงจรกิโลเมตร โดยปี ๒๕๖๒ PEA มีแผนดำเนินการ ๒ ล็อต ซึ่งเริ่มดำเนินการขุดโดยนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน ด้วยวิธีการก่อสร้างวางท่อร้อยสาย เป็นแบบดันท่อลอด (HDD) ทั้งด้านระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ เพื่อลดปัญหาผลกระทบเรื่องการขุดเปิดผิวการจราจรของประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวท่อร้อยสายระบบแรงต่ำอยู่ด้านริมทางเท้า (Footpath) ของทั้งสองฝั่งถนน เพื่อจ่ายไฟผ่านบ่อพักสายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แนวท่อร้อยสายระบบแรงสูงอยู่บริเวณกลางถนน การก่อสร้างบ่อพักสายใช้วิธีการหล่อสำเร็จจากนอกพื้นที่แล้วนำมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง การก่อสร้างของ PEA อาจจำเป็นต้องมีการขุดเปิดผิวการจราจร และปิดการจราจรบางส่วนบ้าง ก็ต้องขอความอนุเคราะห์ประชาชนในพื้นที่เพื่อความสำเร็จของโครงการ ซึ่งจะมีการประสานงานกับเทศบาลนครฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดคุยช่วงระยะเวลาดำเนินการ ทำความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหา
นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า “การเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ ล็อตที่ ๑ และ ๒ ในเขตพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา รวมระยะทาง ๔.๒๔ กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาดำเนินการจะขุดวางท่อร้อยสายและติดตั้งโครงข่ายฯ เปิดผิวดิน และปิดช่องทางการจราจรบางส่วน ตามช่วงเวลาก่อสร้างในเวลากลางคืน ๒๑.๐๐น.-๐๔.๐๐ น. ซึ่งจะไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน เราจะเร่งให้เร็วที่สุดภายใน ๑ ปี ไม่เกินเดือนกันยายน ๒๕๖๓”
“ภายในระยะเวลา ๑ ปี หลังจากสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินแล้ว ระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะมีความมั่นคง ด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ อีกทั้ง รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง และนับวันการใช้ไฟฟ้ายิ่งมีบทบาทกับเรามากขึ้น รวมทั้งช่วยทำให้ทัศนียภาพสวยงามด้วยประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ PEA จึงเร่งมือนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาด้วย”
เริ่มแล้วล็อตที่ ๒
นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงรายละเอียดและเส้นทางว่า “การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด ๖ ล็อต ในปี ๒๕๖๒ PEA จะดำเนินการ ๒ ล็อต เริ่มจากล็อตที่ ๒ ก่อน ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ โดยล็อตที่ ๒ ประกอบด้วย ถนนสุรนารี ถนนบุรินทร์ ถนนพิบูลละเอียด ถนนโพธิ์กลาง ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ รวมระยะทาง ๒.๕๘ วงจรกิโลเมตร เริ่มจากถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และ ถนนโพธิ์กลาง ซึ่งสถานะปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ สำหรับล็อตที่ ๑ ได้แก่ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน รวมระยะทาง ๑.๖๖ วงจรกิโลเมตร ดังกล่าวนี้ PEA ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ๒๕๖๓ สำหรับช่วงเวลาในการก่อสร้าง PEA จะดำเนินการตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. ถึง ๐๔.๐๐ น. ของทุกวัน โดยจะเปิดผิวดินตามช่วงเวลานี้เท่านั้น และปิดช่องทางการจราจรบางส่วน หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว PEA จะดำเนินการปิดผิวดิน ให้รถบนท้องถนนสัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ”
“ทั้งนี้ PEA ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนเมืองโคราชได้ทราบเบื้องต้นแล้ว ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ ป้ายประชาสัมพันธ์ รถแห่ประชาสัมพันธ์ตามถนนที่จะดำเนินการ และเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ที่ผ่านมา PEA ลงพื้นที่เดินประชาสัมพันธ์ทุกบ้านเรือน ร้านค้า และตลาดแม่กิมเฮง เส้นถนนสุรนารีตลอดเส้นทาง เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยได้รับทราบและเตรียมความพร้อมในการสัญจรช่วงการดำเนินการของ PEA และขอให้ชาวโคราชสบายใจและมั่นใจได้ว่า PEA จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี หลังดำเนินการและจะเกิดความปลอดภัยอย่างแน่นอน”
ตอบข้าสงสัยคนโคราช
จากนั้น นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ได้ตอบข้อสงสัยที่รวบรวมมาดังนี้ “๑.เมื่อนําสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว ยังคงมีเสาไฟฟ้าหรือไม่” ซึ่งตอบว่า เมื่อนําสายไฟฟ้าลงดินแล้ว จะไม่มีเสาไฟฟ้า เนื่องจากโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ ของ PEA นั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าและปรับปรุงทัศนียภาพเมืองของเทศบาลนครฯให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินในเส้นทางนั้นๆ แล้วเสร็จ ก็จะดําเนินการรื้อถอนระบบไฟฟ้าเดิม ได้แก่ เสาและสายไฟฟ้าเหนือดิน ทั้งหมด เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
๒.สายสื่อสารจะนําลงดินด้วยหรือไม่อย่างไร นายศรีธร ตอบว่า สายสื่อสารของผู้ประกอบการทุกรายจะนําลงดิน เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดําเนินการรื้อถอนระบบไฟฟ้าเดิม ได้แก่ เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเหนือดิน หลังจากก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินแล้วเสร็จ ทําให้ผู้ประกอบการด้านสายสื่อสารทุกราย ที่เคยพาดสายสื่อสายบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ต้องนําสายสื่อสารลงใต้ดินด้วย ทุกเส้นทางทางที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดําเนินการปรับปรุงเป็นระบบเคเบิลใต้ดิน ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีการจัดประชุมหารือแนวทางการนําสายสื่อสารลงใต้ดินอย่างบูรณาการกับผู้ประกอบการด้านสายสื่อสารทุกราย ซึ่งได้ข้อ สรุปว่า บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) จะเป็นผู้ดําเนินการก่อสร้างระบบท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน แล้วให้หน่วยงานด้านสายสื่อสารอื่นๆ ที่เหลือเป็นผู้เช่าท่อร้อยสายสื่อสารของทีโอที
๓.ระหว่างที่ PEA นําสายไฟฟ้าลงดิน ไฟจะดับหรือไม่ ประเด็นนี้ได้คำตอบว่า ในระหว่างที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นําสายลงดิน ไฟจะไม่ดับ เนื่องจากการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ใช้สายเคเบิลใต้ดินและอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งทําให้ในระหว่างการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดินไม่จําเป็นต้องมีการดับไฟเพื่อย้ายสายไฟฟ้าที่อยู่เหนือดินลงมาติดตั้งใต้ดิน
๔.เมื่อนําสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว มีความปลอดภัยอย่างไร และเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยจะเป็นอันตรายหรือไม่ ได้คำตอบว่า ระบบสายเคเบิลใต้ดินมีความปลอดภัยสูงมากและสูงกว่าระบบสายไฟฟ้าเหนือดิน เนื่องจากระบบสายเคเบิลใต้ดินนั้น สายที่นํามาใช้งานเป็นสายที่ประกอบด้วยฉนวน ๒ ชั้น ซึ่งมากกว่าระบบสายเหนือดิน พร้อมทั้งชิลด์ (Shield) ตลอดความยาวสาย ซึ่งทําหน้าที่นํากระแสรั่วลงดิน ทําให้ระบบเคเบิลใต้ดินมีความปลอดภัยกว่าระบบไฟฟ้าเหนือดินเป็นอย่างมาก และเนื่องจากสายเคเบิลใต้ดินประกอบด้วยฉนวน ๒ ชั้น พร้อมมีระบบป้องกันน้ำหรือความชื้นเข้าไปในสายเคเบิลใต้ดิน ทําให้สายเคเบิลใต้ดินสามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยที่ไม่เกิดไฟรั่ว ในขณะที่มีอุทกภัย
๕.เมื่อนําสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง การดําเนินการแก้ไขยากกว่าเดิมหรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้ตอบว่า สําหรับระบบเคเบิลใต้ดินนั้น เป็นระบบที่มีความมั่นคงที่สูงมาก และมีโอกาสน้อยที่จะเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง เนื่องจากการติดตั้งสายเคเบิลใต้ดินในท่อร้อยสายไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดิน แทบจะไม่มีปัญหาจากมลภาวะอากาศ สัตว์ต่างๆ หรือปรากฏการณ์ฟ้าผ่า โดยโครงการนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดําเนินการออกแบบระบบเคเบิลใต้ดินเป็นแบบวงรอบ (Loop) ซึ่งหากเกิดปัญหากับสายเคเบิลใต้ดินช่วงใด ก็ยังคงมีสายเคเบิลใต้ดินช่วงที่เหลือสามารถจ่ายไฟทดแทนได้ ดังนั้นปัญหาไฟฟ้าขัดข้องจึงแทบจะไม่เกิดขึ้นสําหรับระบบเคเบิลใต้ดิน
ทั้งนี้ โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งเป็น ๖ ล็อต หรือ ๖ ล็อต ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการ ล็อตที่ ๒ ก่อน บริเวณห้าแยกหัวรถไฟหน้าการไฟฟ้าฯ รวมไปถึงถนนสุรนารี เนื่องจาก ล็อตที่ ๑ ถนนราชดำเนิน พบปัญหาเรื่องโบราณสถานในเขตเมืองเก่า จึงต้องหารือกับคณะกรรมการเมืองเก่า และส่วนราชการในจังหวัดเสียก่อน ส่วนล็อตที่ ๓ อยู่บริเวณถนนโพธิ์กลาง และถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ล็อตที่ ๔ อยู่บริเวณถนนประจักษ์และถนนไชยณรงค์ ล็อตที่ ๕ ถนนมนัส ยาวมาสุดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา และล็อตที่ ๖ ถนนจักรีและถนนวัชรสฤษดิ์
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๕ วันพุธที่ ๒๕ กันยายน - วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
876 1,527