14thSeptember

14thSeptember

14thSeptember

 

October 24,2019

๑๖ องค์กรเกษตรอินทรีย์อุบลฯ จี้รัฐบาลแบน ๓ สารเคมีอันตราย

ตัวแทน ๑๖ องค์กรเกษตรอินทรีย์อุบลฯ รวมตัวเรียกร้องนายกรัฐมนตรีแบน ๓ สารเคมีอันตราย ลดการปนเปื้อน ซึ่งทำมากว่า ๑๐ ปี แต่น้ำท่วมครั้งเดียวหายวับไปกับตา

 

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทน ๑๖ องค์กรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานี กว่า ๒๐ คน รวมตัวยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเรียกร้องให้หยุดการใช้สารพิษอาบแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสในภาคการเกษตร เพราะปัจจุบันพบว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยมีการใช้สารเคมีฆ่าศัตรูพืชทั้ง ๓ ชนิดอย่างกว้างขวาง และเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ ก็ไม่ได้ตระหนักต่อสารตกค้างในร่างกาย จนมีผลร้ายต่อสุขภาพเกษตรกรผู้ใช้ และส่งผลต่อไปถึงผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการใช้และพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ทำให้เกิดปัญหากับการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเกิดการปนเปื้อนสารเคมีจากพื้นที่ที่มีการใช้สารดังกล่าว แม้เกษตรกรอินทรีย์พยายามทำแนวกันชนอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม รวมทั้งขณะนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการทำการเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากงบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ทำให้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรอินทรีย์คุณภาพอย่างกว้างขวาง และสามารถผลิตอาหารส่งขายไปต่างจังหวัดและต่างประเทศปีหนึ่งมูลค่าหลายพันล้านบาท

พร้อมทั้ง เห็นว่า การกำจัดแมลงศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืช ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว เกษตรกรสามารถเลือกใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การไถพรวน ปลูกพืชคลุมดิน ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งได้ผลดีและไม่มีสารตกค้างทั้งในดิน ในน้ำ หรือในผลผลิตทางการเกษตร 

ในทางตรงข้ามเกษตรกรที่ใช้สารเคมีทั้ง ๓ ชนิดดังกล่าว จากผลวิจัยพบว่า มีสารตกค้างเป็นอันตรายกับตัวเกษตรกร สัตว์ในดิน สัตว์ในน้ำ และสิ่งแวดล้อม ทำให้กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และประเทศเอเชียที่อยู่ใกล้ประเทศไทย อาทิ เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ได้ประกาศห้ามใช้เคมีดังกล่าวในการทำเกษตรกรรมแล้ว
จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการนำเข้าสารเคมีทั้ง ๓ ตัว คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพื่อลดการสูญเสียเงินตราให้ต่างประเทศจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนให้ผืนแผ่นดินไทยกลับมาปลอดจากสารพิษ เกษตรกรจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับธรรมชาติ และเกิดความหลากหลายทางชีวภาพในผืนแผ่นดินไทย

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล ผู้ประสานงาน ๑๖ องค์กรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานี กล่าวถึงผลกระทบของสารเคมีทั้ง ๓ ชนิดที่มีต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมา เกิดการปนเปื้อน โดยฟุ้งกระจายมาทางอากาศขณะนำมาใช้ และยากแก่การทำแนวป้องกัน หากยังมีการใช้กันอยู่ อีกทางคือ การปนเปื้อนมากับน้ำ ช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เกษตรกรไม่สามารถทำแนวป้องกันแปลงเกษตรอินทรีย์ไว้ได้เลย ทำให้สิ่งที่เกษตรอินทรีย์ทำมานับสิบปีหายไปทันที รัฐบาลจึงต้องหยุดการใช้สารเคมีเหล่านี้ทันที

ต่อมานายเธียรชัย พุทธรังสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีลงมารับหนังสือและรับปากกับผู้แทน ๑๖ องค์กรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ฯ ว่า จะส่งข้อเรียกร้องและความเห็นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับทราบต่อไป

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๙ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


853 1,487