29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 24,2019

มทส.อันดับ ๕ มหาวิทยาลัยไทย ด้านวิศวกรรมศาสตร์-เทคโนโลยี

THE จัดอันดับ มทส.ให้อยู่ในอันดับ ๕ อธิการบดีย้ำ พัฒนาหลักสูตรควบคู่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นที่พึ่งสังคม 

เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ Times Higher Education (THE) ประเทศอังกฤษ ได้เผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ประจำปี ค.ศ.๒๐๒๐ (The 2020 Times Higher Education World University Ranking) ในระดับสาขาวิชาอย่างเป็นทางการ โดยในกลุ่มสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (Engineering and Technology) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ ๕ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย 

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ประจำปี ค.ศ.๒๐๒๐ กลุ่มสาขาวิชา Engineering and Technology หรือ World University Rankings 2019 by subject: Engineering and Technology โดย Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับขึ้นจำนวนมากถึง ๑,๐๐๘ อันดับ จากปีที่ผ่านมาที่มีเพียง ๙๐๓ อันดับ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ครองอันดับ ๑ ร่วมกัน ในสาขาวิชานี้ คือ California Institute of Technology และ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็น University of Cambridge ประเทศอังกฤษ และ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ ๓ ร่วมกัน 

สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดอันดับในสาขาวิชานี้ ในปี ค.ศ.๒๐๒๐ มีทั้งสิ้น ๑๒ มหาวิทยาลัย โดย มทส. ยังคงอยู่ในลำดับเดิม คือ ๖๐๑-๘๐๐ และอยู่ลำดับที่ ๕ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งผลการจัดอันดับเรียงตามคะแนนรวมถ่วงน้ำหนัก ได้ดังนี้ 

๑.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ ๕๐๑-๖๐๐ (๒๘.๘ คะแนน) ๒.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ ๖๐๑-๘๐๐ (๒๖.๒ คะแนน) ๓.มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ ๖๐๑-๘๐๐ (๒๒.๘ คะแนน) ๔.มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับที่ ๖๐๑-๘๐๐ (๒๒.๒ คะแนน) ๕.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ ๖๐๑-๘๐๐ (๒๑.๓ คะแนน) ๖.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับที่ ๖๐๑-๘๐๐ (๑๙.๒ คะแนน) ๗.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๗.๖ คะแนน) ๘.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๕.๙ คะแนน) ๙.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๕.๐ คะแนน) ๑๐.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๓.๙ คะแนน) ๑๑.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๓.๔ คะแนน) และ ๑๒.มหาวิทยาลัยนเรศวร อันดับที่ ๘๐๑+ (๑๒.๓ คะแนน)

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำดังกล่าว ประกอบด้วย ๕ ตัวชี้วัดหลัก (๑๓ ตัวชี้วัดย่อย) ให้น้ำหนักแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้ การสอน (สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้) มีน้ำหนัก ๓๐.๐%, การวิจัย (ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียง) มีน้ำหนัก ๓๐.๐%, การอ้างอิง (อิทธิพลของการวิจัย) มีน้ำหนัก ๒๗.๕%, รายได้จากภาคอุตสาหกรรม (การถ่ายโอนความรู้) มีน้ำหนัก ๕.๐% และความเป็นนานาชาติ (บุคลากร นักศึกษา การวิจัย) มีน้ำหนัก ๗.๕% 

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับในปีนี้ มทส.มีคะแนนดีขึ้นจากปี ค.ศ.๒๐๑๙ ใน ๓ ตัวชี้วัด คือ ด้านการสอน การวิจัย และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 

“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการในระดับสากลที่ มทส.ยังคงความสำเร็จในลำดับต้นๆ ของประเทศ พร้อมพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา ๒๙ ปี แห่งการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ๔ ปี มีจำนวนหลักสูตรที่เปิดดำเนินการแบบ Modular Curriculum รวมทั้งสิ้น ๒๓ หลักสูตร ในรูปแบบ Degree  แบบ Non-Degree หรือ Training ระยะสั้น นอกจากนี้ ยังดำเนินการพัฒนาหลักสูตร Double Degree จำนวน ๑๓ หลักสูตร ร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างประเทศ ๖ สถาบัน เพื่อปรับตัวในสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของวงการศึกษา ปรับรูปแบบการเรียนการสอน การสร้างระบบนิเวศน์เพื่องานวิจัย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน ควบคู่กับสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป” อธิการบดี มทส. กล่าว

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๙ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

791 1438