October 30,2019
พบฟอสซิลไดโนเสาร์ฟันฉลาม อุทยานธรณีโคราช’แถลงใหญ่ เผยปี’๖๓ วืดงบสนับสนุน
อุทยานธรณีโคราช เตรียมแถลงใหญ่การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในโคราช พฤศจิกายนนี้ เป็นผลงานในโครงการญี่ปุ่น–ไทยไดโนเสาร์ ผอ.อุทยานฯ เผย งบปี’๖๓ เท่ากับศูนย์ ราชภัฏต้องเตรียมหางบจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือในเบื้องต้น
ตามที่มีรายงานว่า มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ชนิดล่ากินเนื้อ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นคือ มีฟันคล้ายฟันฉลาม โดยทางนิตยสารออนไลน์ PLOS ONE ได้เผยแพร่ผลงานการค้นพบนี้ ซึ่งนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น ในโครงการญี่ปุ่น–ไทยไดโนเสาร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยฟูกูอิของญี่ปุ่น ร่วมกันทำงาน
สำหรับฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ได้ชื่อว่า สยามแรปเตอร์–Siamraptor นับว่าเป็นไดโนเสาร์นักล่าตัวยงเมื่อ ๑๑๕ ล้านปีก่อนและคาดว่า มีความยาวอย่างน้อย ๘ เมตร โดยการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในไทย ประกอบด้วยไดโนเสาร์อย่างน้อย ๔ ตัว มีชิ้นส่วนต่างๆ เช่น กะโหลก กระดูกหลัง แขน สะโพก และฟัน ทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการของสยามแรปเตอร์ในวงศ์ไดโนเสาร์คาร์คาโรดอนโทซอรัส–Carcharodontosaurus
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า สำหรับเรื่องไดโนเสาร์ฟันฉลาม “สยามแรปเตอร์” ที่มีการค้นพบใหม่ และตีพิมพ์ โดยจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากต้องรอแถลงในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธาน ในส่วนของการผลักดันอุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก โดยขณะนี้เรื่องกำลังเข้าสู่ ครม.รอบที่ ๒ ถ้ารอบนี้ผ่าน เดือนพฤศจิกายนนี้ จะสามารถส่งใบสมัคร เพื่อให้ทางคณะกรรมการยูเนสโกเข้ามาประเมินได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคมที่ผ่านมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๒ พรรคชาติพัฒนา ได้อภิปรายในที่ประชุมสภา ว่า “จากเดิมที่โคราชเคยได้รับงบประมาณมาใช้จ่ายในเรื่องนี้ แต่ว่าในปี ๒๕๖๓ โคราชไม่ได้รับงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นชื่อเสียงของประเทศไทย จึงต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้โปรดจัดสรรงบประมาณ และต้องการให้คนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาในเดือนพฤษภาคมปีหน้า จะมีการมาตรวจของยูเนสโกเพื่อรับรองการเป็นแหล่งธรณีโลก และกลายเป็น “UNESCO Triple Crown” แห่งที่ ๓ ของโลก ดังนั้นขอได้โปรดสภาพิจารณางบประมาณเพื่อสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย”
โดย ผศ.ดร.ประเทือง เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาพยายามหางบประมาณจากทางส่วนอื่นมา สนับสนุนในส่วนนี้เพิ่มเติม แต่อาจจะได้มาเพียงแค่บางส่วน ซึ่งทุกปีเราไม่เคยได้งบประมาณน้อยขนาดนี้ ทั้งนี้เรามีการเสนอโครงการไปแล้ว แต่ไปตกที่ระดับภาค และเห็นว่าไม่เชื่อมโยงอีก ๕-๖ จังหวัดของอีสานใต้ ดังนั้นเรื่องจึงไม่ถึงส่วนกลาง ทำให้เราไม่ได้รับงบตรงนี้มา
“ถึงแม้ว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ จะช่วยจัดสรรงบ แต่ก็อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากอุทยานฯ มีพนักงานค่อนข้างมาก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำต่างๆ แต่ก็จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นกันไปก่อน โดยปกติแล้ว งบประมาณที่เคยได้อยู่ที่ประมาณ ๑๗-๑๘ ล้านบาทต่อปี แต่ปี ๒๕๖๓ กลับเป็นศูนย์” ผอ.อุทยานธรณีโคราช กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี) ในการจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช และได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศจากคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยา และจัดตั้งอุทยานธรณี เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ต่อมา คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโคราชเสนอเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
อนึ่ง อุทยานธรณีโคราช มีที่ตั้งครอบคลุม ๕ อำเภอ รวมเนื้อที่ประมาณ ๓,๑๖๗ ตร.กม. โดยมีความเหมาะสมหลายประการ อาทิ เป็นแหล่งธรณีวิทยา แหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน ๓๕ แหล่ง โดยเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าระดับนานาชาติ จำนวน ๔ แหล่ง เช่น แหล่งฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุ ๒๐๐,๐๐๐ ปี ที่หลากหลายชนิดที่สุด (๑๕ ชนิด) ในอาเซียน นอกจากนี้ อุทยานธรณีโคราช ยังมีลักษณะภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขารูปอีโต้ ที่มีการยกตัวของที่ราบสูงโคราช โดยเส้นทางเขาเควสตามีระยะทาง ๖๐ กม. (ตั้งแต่จุดชมวิวเขายายเที่ยง-ปราสาทหินพนมวัน) มีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมของพื้นที่อีกด้วย โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๐ วันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม - วันอังคารที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒
871 1,529