19thApril

19thApril

19thApril

 

December 26,2019

ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘โคราช’ขาดผู้นำโดดเด่น ติงรัฐบาลสนใจ‘อีสาน’บ้าง

ตั้งเป้าสัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ ๔๕% พร้อมผลักดันโคราชเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมการลงทุน และได้สิทธิพิเศษมากขึ้น ลดความยุ่งยากด้วย One Stop Service แนะรัฐบาลหันมามองภาคอีสานบ้าง เพื่อให้มีเม็ดเงินมาพัฒนา ส่วนโคราชยังขาดผู้นำที่โดดเด่น

เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และคณะเดินทางมาพบนายสุนทร จันทร์รังสี ผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน เพื่ออวยพรปีใหม่ ทั้งนี้ยังได้ร่วมพูดคุยถึงกรณีผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับงานมหกรรมเทคโนโลยีอีสาน (NorthEastTech19) ที่เพิ่งผ่านไป เป็นงานแสดงนวัตกรรม ซึ่งเราต้องการให้เกิดการ กระตุ้นว่าที่โคราชมีงานลักษณะนี้ และเราเป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงต้องการให้เกิดความรับรู้ นอกจากนี้สัดส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมของเรายังสูงที่สุดอีกด้วย และเราตั้งเป้าไว้ว่า จะให้สัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ ๔๕%  เพราะว่าภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมีความยั่งยืน สร้างรายได้ เกิดการลงทุนจากภายนอกเข้ามา หรือโครงการที่เสนอผ่านทาง ครม.ว่า ต้องการให้โคราชเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“โคราชจำเป็นต้องเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (๑๐ แห่ง) มีข้อแม้ว่าเป็นด่านศุลกากร ให้ส่งเสริมการลงทุน และได้สิทธิพิเศษมากขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะองค์ประกอบ ถึงแม้จะมีด่านศุลกากร แต่ไม่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์ คือ จุดประสงค์ชี้ว่าให้อุตสาหกรรมไปสร้างที่มุกดาหาร แล้วไปใช้แรงงานลาว ซึ่งในความเป็นจริง หากเป็นแรงงานลาว ไปตั้งโรงงานที่ลาวโดยตรงดีกว่า เพราะถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตในลาว ส่งออกไปยุโรปไม่ต้องเสียภาษี แต่ของไทยต้องเสียภาษี องค์ประกอบโดยรวมของโคราชตั้งแต่มีท่าเรือบกที่ สนข.อนุมัติมา ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่กำลังทำ ขณะนี้อยู่ที่ขั้นตอนทำ PPP หากเสร็จก็จะประกาศหาผู้ร่วมลงทุน ผมเคยเสนอผู้ว่าฯ ให้ใช้งบจังหวัดดำเนินการ เพราะแค่ ๓๐ กว่าล้านบาท ผู้ว่าฯ ก็ไปคุยกับคนที่ดูแลการท่าเรือ เพื่อของบประมาณ เนื่องจากการท่าเรือต้องมีส่วนร่วม แต่อาจจะติดระเบียบราชการ ทำให้ช้า แต่อย่างไรก็ตามด่านศุลกากรก็ต้องเกิด เมื่อมีองค์ประกอบครบแล้ว ก็จะขอพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” นายหัสดิน กล่าว

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความสำคัญคือ เป็น One Stop Service กรณีการขอใบอนุญาตต่างๆ หลายคนก็บอกว่า กฎเกณฑ์การขอน้อยลง แต่การขอตั้งโรงงานค่อนข้างยุ่งยาก หากทำเป็น One Stop Service ก็สามารถส่งเรื่องขอได้ที่เดียวกัน แทนที่จะเดินทางไปมาหลายแห่ง โรงงานอุตสาหกรรมขณะนี้ เนื่องจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น จีนแทนที่จะเข้ามาไทย แต่กลับไปที่เวียดนาม เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ครอบคลุม นอกจากนี้ตนมองว่า สำหรับประเทศไทยจุดใดที่มีความพร้อมจัดตั้งเป็นสิทธิพิเศษ เราสามารถจะดึงนักลงทุนมาได้ ควรให้เกิด ถ้าเกิดก็จะมีผลดีดึงนักลงทุนเก่าไว้ ซึ่งความพร้อมเรามีเยอะ ที่ดินเรามีมากกว่า EEC รวมทั้งยังมีแรงงาน มีสถานศึกษา ปัญหาแหล่งน้ำอาจจะมี แต่ไม่มากเท่า EEC หากนายกรัฐมนตรีเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรอีก เราก็จะเสนอเรื่องการจัดการระบบน้ำเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานฟื้นได้

“ภาคเอกชนมองว่า หากมีกิจการคล้ายๆ East Water ที่ภาคตะวันออก เพื่อจะขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมเขาไม่เกี่ยงเรื่องน้ำ เรื่องราคา แต่วันนี้ลุ่มน้ำมีข้อจำกัดต้องแย่งกันระหว่างผู้ใช้อุปโภคบริโภค ผู้ใช้ด้านการเกษตร ผู้ใช้ด้านอุตสาหกรรม ก็ทำให้ไม่ชัดเจน หากทำให้สิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น ก็จะทำให้การลงทุนง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันกันอยู่” นายหัสดิน กล่าว
นายหัสดิน กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ดีจริงๆ ปกติช่วงปลายปีประมาณพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว จะต้องมีกำลังซื้อเนื่องจากเพิ่งจะมีการขายผลผลิต แต่ปีนี้เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ติดต่อกัน มีการประชุมประกันรายได้ทั้งหมด ๖ ครั้ง แต่ไม่มีการชดเชยข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ที่มีการปลูกในภาคอีสานมากที่สุด มีการชดเชยแค่ครั้งเดียวครั้งสุดท้าย แต่เกษตรกรก็เก็บเกี่ยวกันไปหมดแล้ว ทำให้ปีนี้ประสบปัญหาแล้ง ไม่มีเงินในกระเป๋า เงินจากรัฐบาลก็ไม่มีเข้ามาช่วยเหลือ เพราะราคาข้าวเหนียว และข้าวหอมมะลิสูงกว่าราคาประกัน และตอนนี้เขาก็ไม่มีข้าวขายกันแล้ว สำหรับเงินช่วยเหลือของภาครัฐ ตนก็เป็นกรรมการ มีการตั้งงบไว้ที่ ๒.๑ หมื่นล้าน ใช้ไปแล้ว ๑.๗ หมื่นล้าน แต่ไปชดเชยเกษตรกรในภาคกลางจำนวนมาก ทั้งที่เกษตรกรภาคกลางไม่เดือดร้อนเท่าภาคอีสาน ภาคอีสานปีหน้าตนมองว่า อาจจะแย่ เพราะเกษตรกรไม่มีเงินจับจ่าย ส่วนเรื่องการจ่ายเงินของรัฐ ตนไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินแบบนี้ การจ่ายเงินต้องจ่ายเพื่อให้เขาทำรายได้ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่า ไม่เคยเอาปลาให้ประชาชน สอนให้ประชาชนตกเบ็ด แต่ทุกวันนี้เอาปลาไปให้ แต่เอาไปให้ภาคกลาง แต่ภาคอีสานไม่ได้ ซึ่งเหมือนกับว่าไม่ได้ช่วยเขาปลา ตอนนี้ภาคอีสานโดนซ้ำเติมหมดแล้ว อยากให้รัฐบาลหันกลับมามองภาคอีสาน เพื่อให้มีเม็ดเงินมาลงในพื้นที่บ้าง

สำหรับด้านการค้า นายหัสดิน กล่าวว่า ตนก็ทำธุรกิจทางด้านนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ดีมีธุรกิจที่กัมพูชา ซึ่งฝั่งทางกัมพูชาเองก็ประสบปัญหาด้านการเมือง ทำให้ถูกต่อต้านจากทางยุโรปค่อนข้างมากก็ทำให้มีผลกระทบ

“ปีหน้าเราจะมีการจัดงานมากขึ้น ซึ่งจะเน้นด้านอุตสาหกรรมอาหาร และด้านการเกษตร เพราะปีหน้าต้องมุ่งไปเรื่องนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการเกษตรมีการแปรรูปเพื่อนำมาขาย และเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบการเกษตร โดยงานของสภาอุตสาหกรรมฯ จะเน้นไปเรื่องนี้เป็นหลัก เพื่อเป็นโครงการที่ช่วยมูลค่าของสินค้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ตนก็ใกล้หมดวาระการเป็นประธานสภาอุตฯ แล้ว ก็จะมีการเลือกประธานสภาอุตฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ถ้าประธานใหม่ขึ้นมา แนวทางที่กำลังทำก็พอเป็นไปได้ คนใหม่ๆ อาจจะมีไอเดีย ภาวะแบบนี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี เราอย่าไปยึดติดว่าเราทำแบบนี้ ก็จะต้องทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ” นายหัสดินกล่าว

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า บริบทต่างๆ ต้องขับเคลื่อนไป เอกชนขณะนี้ก็พยายามที่จะขับเคลื่อนช่วยเหลือตัวเอง หากสังคมโคราชแย่ลง ทุกคนก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงต้องช่วยกันประคับประคองภาวะเศรษฐกิจในเมืองให้ได้ หลายกรณีโคราช เรามีจุดเด่นมาก เราต้องนำจุดเด่นตรงนี้ออกมาให้ได้ มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ LRT สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโคราช เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ให้ได้ประโยชน์

“กรณีเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การเป็น Hub-Terminal ในการส่งสินค้าผ่านระบบรางไปยังต่างประเทศ ขณะเดียวกันส่วนกลางส่งสินค้ามาที่ฮับเทอร์มินอลโคราช เราก็ขนส่งกระจายสินค้าทางรางไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ก็จะกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ใน ท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เป็นการเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือบก (Dry port) มีด่านศุลกากร เมื่อมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ก็จะมาประกอบในประเทศ ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ” นายหัสดิน กล่าว

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงยังมีการถกเถียงกันอยู่ ระหว่างสถานีจิระ และสถานีเดิม เราจะทำอย่างไรให้รถไฟความเร็วสูงได้ประโยชน์ นั่นหมายความว่า เราต้องมีฮับโลจิสติกส์ขนส่งคนในโคราช และคิดว่า จะขนคนต่อไปที่ บขส.อย่างไร หรือจากโคราช ไป ๓๑ อำเภอที่เหลือ หรือไปจังหวัดอื่นอย่างไร อย่างคนชัยภูมิจะไปกรุงเทพฯ ก็นั่งรถมาลงที่โคราช และต่อรถไฟความเร็วสูงไปกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมงกว่า ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงมี ๖ สถานี เมื่อมาถึงโคราชซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย คนโคราชต้องได้ประโยชน์ หมายความว่าโคราชต้องเกิดความเจริญจากการเป็นฮับ เรามองแค่ตรงนี้คนโคราชก็จะเกิดประโยชน์แล้ว โครงการรัฐบาลก็จะประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น คนที่มาโคราชก็ต้องอยู่ ต้องกินบ้าง ขับรถมาจากชัยภูมิก็ต้องแวะเติมน้ำมัน เมื่อมาถึงจะนำรถไปจอดตรงไหน เติมน้ำมันที่ไหน และจะไปขึ้นรถไฟอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแผนการ ดังนั้นรัฐบาลต้องผลักดันสาธารณูปโภคเหล่านี้

“หากมีข่าวเสนอออกไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดประเด็น คิดตามๆ กันว่า โครงการเหล่านี้โคราชจะทำได้ไหม มีความเป็นไปได้หรือไม่ หากเราบอกเขาว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร เพียงแต่วันนี้เราไปบอกเขาว่า จะเอาให้ได้นะ เขาก็จะพลิ้วไปพลิ้วมา ผมก็มีการเดินสายพูดคุยกับ ส.ส.โคราชเรื่องการผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาก็ให้ผมไปคุยกับนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลเรื่องนี้ เราก็สงสัยว่า แล้ว ส.ส.โคราชไม่ต้องการผลักดันเรื่องนี้หรือ เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันได้ หากเราร่วมกันผลักดัน มันก็เป็นไปได้ อยู่ที่เขาจะร่วมกับเราไหม อีกทั้งเรายังขาดผู้นำที่โดดเด่นอีกด้วย” นายหัสดิน กล่าว

อนึ่ง การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs)  มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน  โดยประกาศพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครราชสีมา ให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการลงทุน จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ด้านการลงทุนและด้านแรงงาน พัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในโครงการ Dry Port รวมทั้งสนับสนุนจัดตั้งศูนย์รวบรวมรับซื้อสินค้าเกษตร

สำหรับกิจการที่เข้าไปลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครราชสีมา จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเช่น มาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี การอำนวยความสะดวกของหน่วยงานต่างๆเป็นต้น โดยหากอยู่ในประเภทกิจการที่กำหนด ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านภาษีอากร ได้แก่ มาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และมาตรการของกระทรวงการคลัง

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


815 1360